https://uplookgood.blogspot.com/google.com,%20pub-3791389710662192,%20DIRECT,%20f08c47fec0942fa0 ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิกภาพ

โพสต์แนะนำ

ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพ ของแต่ละคนจะเป็นสิ่งประจำตัวของคนคนนั้น ที่ทำให้แตกต่างจาก คนอื่น และมีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะประกอบกัน ทำให้คนแต่ละคนมี บุคลิกภาพ เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลมาจาก การทำงานประสานกันของ สมอง ที่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และประสบการณ์ ที่ได้รับจาก สิ่งแวดล้อม
บุคลิกภาพ มีความสำคัญต่อชีวิตเราอย่างยิ่ง ทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่าขณะนี้ตัวเราเป็นคนอย่างไร และเราจะไม่มีทางเข้าใจว่าขณะนี้เราเป็นคนอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าเราควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด เราจะต้องค้นพบตัวเอง และเป็นตัวของตัวเอง

บุคลิกภาพ” (personality) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างบุคคล บุคลิกภาพ คือตัวบุคคลโดยส่วนรวม ทั้งลักษณะทางกาย ซึ่งสังเกตได้ง่าย อันได้แก่รูปร่างหน้าตากิริยาท่าทาง น้ำเสียง คำพูด ความสามารถทางสมอง ทักษะการทำกิจกรรมต่างๆ และลักษณะทางจิต ซึ่งสังเกตได้ค่อนข้างยาก ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด เจตคติ ค่านิยม ความสนใจ ความมุ่งหวัง อุดมคติ เป้าหมาย และความสามารถในการปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ลักษณะดังกล่าวมีที่มาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน ส่งผลสู่ความสามารถในการปรับตัว ต่อสิ่งแวดล้อม และความแตกต่างระหว่างบุคคล


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ รูปสร้างบุคลิกภาพ


ทฤษฎีที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพ อาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และ ความสามารถในการรู้ตัวเอง (Self Awareness) ถือเป็น ความฉลาด อย่างหนึ่ง เพราะการที่เราจะ รู้ตัวเอง หรือ รู้พฤติกรรมของเราเอง ได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่า เรามองตัวเราอย่างไร เมื่อเทียบกับ สิ่งแวดล้อมในโลกนี้ และเราจะ ควบคุมพฤติกรรม ของเราได้อย่างไร ซึ่งความสามารถ ที่จะจัดการและ ควบคุมชีวิต เรานี้ เป็นความสามารถที่เรียกว่าประสิทธิภาพส่วนบุคคล (Self Efficacy)

คนที่มีประสิทธิภาพส่วนบุคคลสูง จะมีความมั่นใจใน การมีพฤติกรรมโต้ตอบที่ถูกต้อง แต่คนที่มีประสิทธิภาพในตัวเองต่ำ จะมีความกระวนกระวาย มีความกังวลเมื่อจะต้องมีการโต้ตอบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของคนคนนั้น ความรู้ตัวและประสิทธิภาพส่วนตัวน ี้เองจะรวมกันเป็น บุคลิกภาพ ขึ้น

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมาก ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า "อีโก้ (Ego)" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ บุคลิกภาพ ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับอำนาจภายในร่างกาย หรือความต้องการ ความปรารถนาของคนคนนั้น ซึ่งอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัว (id) กับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความจริงจากสิ่งแวดล้อมภายนอก จริยธรรม ความเป็นเหตุเป็นผล (superego) และเมื่อมีการชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัย 2 ปัจจัยนี้แล้วก็จะเกิดการตัดสินใจขึ้น
คำถามคือ บุคลิกภาพ เกิดจากอะไร มาจากไหน นักทำนาย บุคลิกภาพ ฟรานซ์ โจเซฟ กอลล์ (Franze Joseph Gall) ได้ให้ทฤษฎีว่า รอยหยักบนพื้นผิวสมองนั่นเองเป็นตัวกำหนด บุคลิกภาพ เพราะส่วนนี้ทำให้เราตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม มีผลต่อวิธีคิด ความรู้สึกและการกระทำของเรา

พัฒนาการ (Development)
คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามวัยของมนุษย์ ที่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ในลักษณะบันไดวนไม่สิ้นสุด ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนตาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาต่าง ๆ โดยทั่วไป
การกล่าวถึง พัฒนาการมนุษย์นั้น จะเน้นที่การศึกษาถึง การเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และศักยภาพต่าง ๆ ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการผสมผสาน ระหว่างการเจริญเติบโตไปสู่การมี วุฒิภาวะ และ การเรียนรู้

วุฒิภาวะ (Maturation)
คือ กระบวนการของการเจริญเติบโต หรือการเปลี่ยนแปลงในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นโดย ธรรมชาติ อย่างมีระบบระเบียบ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าภายนอก ตัวอย่างเช่นความพร้อมของกล้ามเนื้อ การทำงานของต่อมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดพฤติกรรม ขึ้นเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ๆ พัฒนาการชีวิตมนุษย์ส่วนหนึ่งขึ้นกับ วุฒิภาวะ พฤติกรรมพื้นฐานของชีวิต เช่น การนั่ง เดิน คลาน การเปล่งเสียงอ้อแอ้ เป็นวุฒิภาวะทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนมักจะต้องใช้การเรียนรู้ หรือการฝึกฝนร่วมด้วย เช่น การพูดด้วยภาษาที่สละสลวย หรือการฝึกขี่จักรยาน การฝึกขับรถ เป็นต้น
ตัวอย่างการศึกษาวุฒิภาวะ ที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่ง คือการศึกษาเด็กชนเผ่า โฮปิ (Hopi) โดย Dennis (1940) ซึ่งเด็กชนเผ่านี้ ถูกเลี้ยง โดยการผูกติดกับไม้กระดานทั้งวัน ตั้งแต่อายุประมาณ 7 เดือน โดยไม่ได้มีการฝึกนั่ง คลาน หรือเดินเลย แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อปล่อยเด็กจากไม้กระดาน และได้รับการฝึกให้ นั่ง คลาน หรือ เดิน ทั้งนี้มีข้อเปรียบเทียบ พบว่า เด็กเผ่านี้เดินได้หลังจากเด็กยุโรป ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่เด็กอัฟริกันเดินได้ก่อนเด็กยุโรป ประมาณ 1 เดือน
Dennis สรุปว่าการที่เด็กโฮปิ เดินได้โดยไม่ต้องฝึกฝน และเด็กชนชาติอื่น ๆ เดินได้ในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นผลมาจาก วุฒิภาวะ ของเด็กนั่นเอง

การเรียนรู้ (Learning)
คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มีผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกหัด การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นในการปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ของมนุษย์ พัฒนาการของมนุษย์ต้องอาศัย การเรียนรู้มาก และพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ เป็นผลมาจาก การเรียนรู้มากกว่าวุฒิภาวะ
อย่างไรก็ตามทั้ง วุฒิภาวะ และ การเรียนรู้ ต่างก็มีความจำเป็นต่อพัฒนาการทั้งสิ้น การเรียนรู้ต่างๆ จะดำเนินไปไม่ได้ หรือไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร ถ้ายังไม่ถึงวุฒิภาวะ แต่ถ้าถึงวุฒิภาวะของเด็กแล้วจะทำให้การเรียนรู้นั้นๆ จะได้ผลยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นการเรียนภาษา พบว่าการที่ให้เด็กเรียน ภาษาที่สอง ตั้งแต่การใช้ภาษาแรกของเด็ก ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจดีพอนั้น ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่หากถึงวุฒิภาวะแล้ว ไม่มีการฝึกหัด หรือได้เรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้วค่อยไปฝึกหัดในภายหลัง ก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่นการฝึกว่ายน้ำ ถีบจักรยาน หรือฝึกใช้ กล้ามเนื้อ ตอนโตมากแล้ว อาจไม่ได้ผลดีเท่าตอนเป็นเด็ก การเรียนรู้ใด ๆ จะได้ผลดียิ่งขึ้น จึงต้องให้เด็กมีวุฒิภาวะ หรือความพร้อม เสียก่อน จะทำให้การเรียนรู้นั้น ๆ ได้ผลดียิ่งขึ้น

องค์ประกอบของบุคลิกภาพของบุคคล บุคลิกภาพของบุคคลประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้


  1. ด้านกายภาพ หมายถึง รูปร่างหน้าตา ทรวดทรง ท่าทาง การแต่งกาย การเดิน เป็นต้น บุคลิกภาพ ด้านกายภาพ นี้เป็นสิ่งที่ผู้อื่นมองเห็นได้
  2. ด้านวาจา หมายถึง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง ซึ่งผู้อื่นจะรับรู้ได้โดยการฟัง ลักษณะต่าง ๆ สะท้อน บุคลิกภาพด้านนี้เช่น การพูดไม่เข้าหูคน การพูดจากระโชกโฮกฮาก การพูดจาน่าฟัง เป็นต้น บุคลิกภาพทางวาจาที่ดีย่อมหมายถึงการพูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล น่าฟังเป็นมิตร และได้สาระ
  3. ด้านสติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางการคิดแก้ปัญหา ไหวพริบ ความสามารถที่จะมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้อย่างเหมาะสม คิดเป็น รู้จักคิด คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แสดงออกหรือสนองตอบผู้อื่นได้อย่าง “ทันกัน” และ “ทันกาล”
  4. ด้านอารมณ์ หมายถึง การมีอารมณ์ดี คงเส้นคงวา ไม่วู่วาม เอาแต่อารมณ์ ฉุนเฉียวโกรธง่าย หรือบางคนมีอารมณ์ร่าเริง มากกว่าอารมณ์อื่น หรือบางคน เครียด เศร้า ขุ่นมัว หม่นหมองอยู่เสมอ
  5. ด้านความสนใจและเจตคติ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปบางคนไม่สนใจการเมือง ซึ่งบางคนมีความสนใจ หลากหลายไม่สนใจเพียง เรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
  6. ด้านการปรับตัว มีผลต่อลักษณะของบุคลิกภาพ ถ้าใช้แบบที่ดีมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สังคม ยอมรับ จะอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามถ้าปรับตัวไม่ดีวางตัวในสังคมไม่เหมาะสม ย่อมมี ผลเสียต่อบุคลิกภาพด้านอื่น ๆ ไปด้วย

อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคลิกภาพ
ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กย่อมมี การถ่ายทอดลักษณะ และมาตรฐานต่าง ๆ ในสังคมให้แก่เด็ก โดยกระบวนการเสริมแรงและ การเรียนรู้โดยการเลียนแบบ เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมการแสดงออกต่าง ๆ ของบิดามารดาหรือผู้ที่เลี้ยงดู มากกว่าที่จะทำตามคำสอน ดังนั้น ทัศนคติและการเป็นตัวแบบของบิดามารดาตลอดจนการถือตนตามแบบของเด็ก มีผลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง (สุภาพรรณ โคตรจรัส, 2542) หากพ่อแม่มีการอบรมสั่งสอนที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กมีความสับสน ไม่เข้าใจ และไม่สามารถพัฒนา ตัวแบบ (Image) ให้เกิดขึ้นในใจตนเองได้
สมคิด อิสระวัฒน์ (2542) พบว่าการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่เลี้ยงดูแบบให้ความรัก ความใกล้ชิด ความอบอุ่น สอนให้เป็นคนที่มีเหตุผล ฝึกลูกให้ช่วยตนเอง ให้ตัดสินใจเอง โดยพ่อแม่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือที่ปรึกษานั้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาลักษณะการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก ในทำนองเดียวกัน การเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยท่าที หรือ เจตคติ (attitude) ไม่รักหรือรังเกียจ (Rejection) และการรักและปกป้องคุ้มครองเด็กมากเกินไป ( Overprotection) นั้นมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ที่แตกต่างกัน เช่น
1. การเลี้ยงดูที่ทอดทิ้ง กระทำทารุณ หรือประนามอย่างไม่สมควร หรือเข้มงวด ดุ ลงโทษเสมอ ๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก
    จะเป็นคนขี้กลัว กังวล มีปมด้อยยอมให้คนทั่วไปเอารัดเอาเปรียบ เพื่อใฝ่หาความรักที่ไม่เคยได้รับ หรือมีพฤติกรรมในทาง
     ตรงกันข้ามคือ ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตรต่อบุคคลอื่น และไม่ยอมลงให้ใครเมื่อโตขึ้น
2. แสดงความรักลูกไม่เท่ากัน จะทำให้เด็กเกิดความอิจฉาแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างพี่น้อง เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก มักจะกังวล
    อารมณ์หวั่นไหวสมาธิเสื่อม เป็นเด็กดื้อ เจ้าอารมณ์ และเต็มไปด้วยความรู้สึกชิงชังคนอื่น
3. แสดงความห่วงใย และตามใจเกินขอบเขต วุ่นวาย ปรนนิบัติ คอยระมัดระวังเกินไป เด็กจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รับผิดชอบ
    ตนเองเท่าที่ควร บุคลิกภาพไม่เจริญสมวัยหรือมีวุฒิภาวะต่ำ
4. แสดงความโอบอุ้มคุ้มครองมากเกินไปอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนเปราะ ไม่มีความอดทน มีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิต
    โรคประสาทได้พอ ๆ กับเด็กที่ขาดความรัก

ซิมมอนด์ (อ้างในศิริพร หลิมศิริวงค์ 2511: 25) ศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคคลิกภาพของเด็ก พบว่า
1. พ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลย จะทำให้บุตรมีลักษณะเป็นคนก้าวร้าว เจ้าคิดเจ้าแค้น ชอบพูดปด หนีโรงเรียน ลักเล็กขโมยน้อย
2. พ่อแม่ที่ประคบประหงมบุตร จนเกินไป บุตรจะมีลักษณะเป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง
3. พ่อแม่ที่มีอำนาจเหนือบุตร บุตรจะเป็นคนเจ้าระเบียบ สุภาพเรียบร้อย อยู่ในโอวาท สามารถปรับตัวเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี สงบ
    เสงี่ยม ขาดความริเริ่ม
4. พ่อแม่ที่ยอมจำนนต่อบุตร บุตรจะขาดความรับผิดชอบ ไม่อยู่ในโอวาท เห็นแก่ตัว ดื้อดึง มักทำอะไรตามชอบใจ

นอกจากนี้ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2520, 26) ได้แบ่งบิดามารดาออกเป็น 4 ประเภท ตาม ทัศนคติของพ่อแม่
ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร คือ
1. ประเภทรักจนเหลิง หมายถึง การเลี้ยงดูที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กจะได้รับความรักและการตามใจอย่างมากจนเกินไป
    ไม่มีความรับผิดชอบหรือหน้าที่ที่จะปฏิบัติภายในบ้าน ได้รับของ และพาไปเที่ยวสนุกสนาน โดยไม่มีเหตุผลอันควร
2. ประเภทเข้มงวด หมายถึงการเลี้ยงดูหรือคาดหวังให้เด็กปฏิบัติตามอย่างแคร่งครัดหากไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษ การกระทำ
    มีกฎเกณฑ์ลงโทษอย่างยุติธรรม คาดหวังที่จะให้เด็กมีความสามารถเกินธรรมชาติ
3. ประเภทละทิ้งและปฏิเสธ หมายถึง การเลี้ยงดูทำตนเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับเด็กแสดงความโกรธ เกลียดในรูปของการ
    ควบคุม และลงโทษซ้ำพ่อแม่ยังรู้สึกว่าลูกของตนเป็นผู้แก้ไขให้ดีไม่ได้แล้ว
4. ประเภททะนุถนอมแบบไข่ในหิน หมายถึง การเลี้ยงดูแบบคอยสอดส่องลูกตลอดเวลา โดยมิให้เสี่ยงเลย พ่อแม่จะทำให้
     ลูกทุกอย่าง แม้จะโตแล้ว

การอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคลิกภาพของเด็กไทยนั้น ได้มีผู้ทำการวิจัยไว้ดังนี้
ชูศรี หลักเพชร (2511) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่า การเข้มงวดกวดขัน
รัชนี กิติพรชัย (2515) พบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขัน จะทำให้มีความคิดริเริ่มต่ำ
ถั้น แพรเพชร (2517) พบว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความคิดริเริ่มสูงกว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบอื่น
วิกรม กมลสุโกศล (2518) พบว่า เด็กที่ได้รับการบอบรมเลี้ยงดูแบบถูกทอดทิ้ง และแบบคุ้มครองมากเกินไป มีความวิตกกังวลสูงกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย
จำเนียร คันธเสวี (อ้างใน วิกรม กมลศุโกศล 2518:11)การเลี้ยงดูแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป โดยการให้ความรักและเอาใจใส่มากเกินไป จะทำให้เด็กมีลักษณะเป็นผู้ตาม มักมีปัญหาที่ยุ่งยาก ไม่มีความสามารถในการปรับตัว เป็นคนเห็นแก่ตัว ซุกซนผิดปกติโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น สนุกโดยการแกล้งผู้อื่นไม่กลัวใคร ชอบฝ่าฝืน และมักจะก้าวร้าว
ประพันธ์ สุทธาวาส (2519) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง และแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป มีความก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ส่วนเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบทอดทิ้งและแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไปมีความก้าวร้าวไม่ต่างกัน แต่แบบประชาธิปไตยเด็กชายมีแนวโน้มก้าวร้าวมากกว่าเด็กหญิง
เกื้อกูล ทาสิทธิ์( 2513) ครอบครัวในระดับกลาง ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักพึ่งตนเองบิดามารดาจะใช้วิธีการอ่อนโยน มีการลงโทษน้อย ทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก มีลักษณะของผู้นำ มั่นใจในตนเองสูง

งานวิจัยที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่ มัญชรี บุนนาค (2514) ได้วิจัยเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาในเมืองใหญ่กับต่างจังหวัด พบว่า เด็กในกรุงเทพฯ มีความสามารถเหนือเด็กในต่างจังหวัดในด้านต่อไปนี้
1. ความสามารถทางสติปัญญา
2. ความมั่นใจในตนเอง
3. ความสามารถในการบังคับตนเอง
ส่วนเด็กต่างจังหวัดเหนือกว่าเด็กในกรุงเทพฯ ก็คือสภาพทางอารมณ์

ทฤษฎีลักษณะบุคคลของอัลพอร์ท(Allport’s Trait Theory)
ทฤษฎีบุคลิกภาพ ที่ว่าด้วยลักษณะของบุคคลซึ่งกล่าวถึงกันทั่วไป ได้แก่ ทฤษฎีของกอร์ดอล อัลพอร์ท นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเขามีความเชื่อว่า บุคลิกภาพ ของบุคคลมีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวและมีความคงที่พอสมควร เป็นอย่างไรก็มักจะอยู่อย่างนั้น และส่งผลสู่การแสดงตัวในภาวะต่างๆ ของบุคคล ทฤษฎีนี้แบ่งประเภทของ บุคลิกภาพ ตามลักษณะร่างกายของบุคคลเป็น 3 พวกคือ

  1. พวกมีลักษณะเด่น พวกนี้มักมีร่างกายสูงใหญ่ หรือหน้าตาดี หรือมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ซึ่งอาจเป็นน้ำเสียง ท่าทาง การพูด การเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งท่าทีปฏิกิริยาต่อผู้อื่น
  2. พวกที่มีลักษณะด้อย พวกนี้มักมีรูปร่างเตี้ยหรือตัวเล็ก หน้าตาไม่ดี หรือมีลักษณะบางประการที่เป็นปมด้อยของตน
  3. พวกที่มีลักษณะกลาง พวกนี้มักมีร่างกายธรรมดาแบบคนส่วนใหญ่ทั่วไป ลักษณะต่างๆ เป็นกลางๆ ไม่เด่น ไม่ด้อย แต่ก็ไม่มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ มักผสมผสานกลมกลืนไปกับคนส่วนใหญ่  
ลักษณะทั้ง 3 ประการดังกล่าว มีผลต่อวิธีการแสดงออกของพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น พวกมีปมด้อย ขี้อาย เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ต้องปรากฎตัวในงานใหญ่ หรือต้องกล่าวในที่ประชุม หรือพบคนแปลกหน้า พวกนี้มักหลีกเลี่ยง วิตกกังวล ทำอะไรเงอะงะผิดพลาด และแยกตัวเอง แต่ถ้าเป็นพวกมีลักษณะเด่น ก็จะเชื่อมั่นในตนเอง แสดงออกได้โดยเหมาะสม สง่าผ่าเผย สิ่งเหล่านี้มักส่งผลให้ทำอะไรได้สำเร็จ หรือเป็นที่ยอมรับทั่วไป สำหรับผู้บริหารหากมีลักษณะเด่นประจำตัวมักเป็นปัจจัยให้งานดีขึ้น แต่ถ้าขาดลักษณะเด่นก็ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา หรือหาแนวทางฝึกฝนพัฒนาตนให้มีความคล่องตัว ให้เหมาะสมสอดคล้องกับงานตามบทบาทหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในงานที่ทำ

ทฤษฎีพลังบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychodynamic Theory)
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา เขาให้ความสนใจเรื่องพัฒนาการทาง บุคลิกภาพ และพลังแห่ง บุคลิกภาพ ของคนเรา ทฤษฎีบุคลิกภาพ ของซิมันด์ฟรอยด์ อธิบายได้เป็น 2 แบบ คือ อธิบายในลักษณะของ ทฤษฎีพัฒนาการ และ ทฤษฎีพลังแห่งบุคลิกภาพ การอธิบายบุคลิกภาพในแง่ พลังบุคลิกภาพ ฟรอยด์ อธิบายในรูปของลักษณะของจิต และ โครงสร้างของจิต เกี่ยวกับลักษณะของจิต ฟรอยด์อธิบายว่า จิตของคนเรามี 3 ลักษณะ คือ


  1. จิตรู้สำนึก (conscious) เป็นสภาพที่บุคคลรู้ตัวว่าเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ฯลฯ เป็นจิตส่วนที่ควบคุมให้แสดงพฤติกรรม ตามหลักเหตุผลและสิ่งผลักดันภายนอกตัว
  2. จิตไร้สำนึก (unconscious) เป็นสภาพที่บุคคลไม่รู้ตัว บางทีเพราะลืม เพราะเก็บกด หรือเพราะไม่ตระหนักในตนว่ามีสิ่งนั้นอยู่ เช่น ไม่รู้ตัวว่าอิจฉาเพื่อน หรือลืมว่าตนเองเกลียดบางอย่าง
  3. จิตใต้สำนึก (subconscious) เป็นสภาพจิตกึ่งรู้สำนึก ถ้าเข้ามาในห้วงนึกก็จะตระหนักได้ แต่ถ้าไม่คิดถึงจิตส่วนนั้น จะเหมือนกับ ไม่มีตนเอง เช่น อาจกังวลในบางเรื่อง กลัวในบางสิ่ง โกรธคนบางคน
จิตทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าว ชนิดไหนมีอำนาจเหนือกว่า บุคคลนั้นๆ ก็มักจะแสดงพฤติกรรมหนักไปทางจิตส่วนนั้น และจิตไร้สำนึกดูจะมีอิทธิพล ต่อพฤติกรรมมากกว่าจิตส่วนอื่น ส่วนจะแสดงพฤติกรรมออกไปในลักษณะใด มักขึ้นกับโครงสร้างของจิต ซึ่งมี 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ อิด (id) อีโก้ (ego) และซุปเปอร์อีโก้ (super ego)

“อิด” เป็นพื้นฐานดั้งเดิมของบุคคล เช่น ความอยาก ตัณหา ความต้องการ ความป่าเถื่อน อันถือเป็นธรรมชาติแท้ๆ ยังไม่ได้ขัดเกลา
“อีโก้” เป็นพลังส่วนที่จะพยายาม หาทางตอบสนอง ความต้องการของอิด
“ซุปเปอร์อีโก้” เป็นพลังที่คอยควบคุม อีโก้ ให้อีโก้ หาหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการสนองความต้องการของ อิด โดยเหนี่ยวรั้ง ให้ทำอะไรอยู่ในกรอบประเพณี ถูกเหตุถูกผลให้คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี คุณธรรม และสังคมที่แวดล้อม

ความเข้าใจ บุคลิกภาพ ตามทฤษฎีพลังบุคลิกภาพนี้ ช่วยให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อนร่วมงานได้ในหลายลักษณะ เป็นแนวทางให้รู้จักควบคุมประคับประคองตนเองให้มีสติ ยั้งคิด ไม่อยู่ไต้อำนาจครอบงำของธรรมชาติแท้ๆ ที่ยังมิได้ขัดเกลามากไป ซึ่งถ้าทำได้ ก็จัดเป็นส่วนหนึ้งของ การพัฒนาบุคลิกภาพ และ พัฒนาตน ให้พร้อมต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นักจิตวิทยาชาวอังกฤษอีกท่านหนึ่งชื่อ สจ๊วต ไดมอนด์ (Stuart Dimond) บอกว่า บุคลิกภาพ เป็นหน้าที่และการทำงานของสมอง ซึ่งเหมือนกับทฤษฎีของ ฮานส์ ไอเซนก์(Hans Eysenck's theory) ที่ว่า บุคลิกภาพ ถูกกำหนดด้วยพันธุกรรม เหมือนกับ ลายนิ้วมือที่จะมีลายต่าง ๆ หรือ รอยหยักในสมองก็จะถูกกำหนดโดย พันธุกรรมเช่นกัน

บุคลิกภาพ โดยทั่วไปของคนเรา ตามทฤษฎีของไดมอนด์จะมี 8 ประเภทด้วยกัน
ประเภทแรก คือ พวกที่ชอบมอง ชอบดู (Visualist)
ประเภทที่ 2 คือ พวกชอบฟัง (Audist)
ประเภทที่ 3 คือ พวกที่ชอบยั่วยวน (Sexist)
ประเภทที่ 4 คือ พวกชอบมีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา (Motorist)
ประเภทที่ 5 คือ พวกที่ชอบพูด ชำนาญเรื่องภาษา (Linguist)
ประเภทที่ 6 คือ พวกที่ชอบเกี่ยวกับรูปร่าง จินตนาการ ภาพพจน์ (Spacist)
ประเภทที่ 7 คือ พวกที่ชอบแสดงความรู้สึก พวกมีอารมณ์หลงใหล (Emotionist) และ
ประเภทที่ 8 คือ พวกก้าวร้าว พวกที่ชอบประสานงา ชอบทะเลาะ (Aggressist)

ทฤษฎีของแมคเคร (McCrae's theory) และทฤษฎีของคอสตา (Costa's theory) ให้คำนิยามของ บุคลิกภาพ ต่าง ๆ ดังนี้ คือ กลุ่มที่ 1 เป็นพวกประสาท กังวลตลอดเวลา ไม่มีความมั่นใจ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นคนรู้สึกผิดบ่อย ๆ (Neuroticism)
กลุ่มที่ 2 เป็นพวกที่ชอบพูดชอบคุย ชอบสังคม รักสนุก มีอารมณ์รักใคร่ง่าย ๆ (Extraversion)
กลุ่มที่ 3 เป็นพวกที่กล้า ชอบแสดงออก มีจินตนาการ ภาพพจน์ (Openness)
กลุ่มที่ 4 เป็นพวกที่รู้จักเห็นอกเห็นใจ ดูอบอุ่น น่าไว้ใจ ให้ความร่วมมือ (Agreeboldness) และ
กลุ่มที่ 5 เป็นพวกที่เชื่อใจได้ ทำอะไรมีจุดมุ่งหมาย มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบ (Conscientiousness)

จอห์น บริกก์ส (John Briggs) บอกว่าความคิดสร้างสรรค์จริง ๆ แล้ว คือ ความรู้สึกที่เพ้อฝัน และยังชี้อีกว่าคนที่เราเรียกว่าอัจฉริยะ หรือ จีเนียส (genius) ซึ่งมาจากคำละติน แปลว่า วิญญาณ (spirit) ก็คือ คนที่รู้จักความสามารถของตัวเอง และสามารถนำ ความสามารถของตัวเองไปสู่วิสัยทัศน์และการปฏิบัติได้ เป็นคนยืดหยุ่น ใจกว้าง และมีความต้านทานต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีได้
มีคำกล่าวไว้ว่า บุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะมีคุณสมบัติ 2 อย่างอยู่ในตัวเอง คือ จะเป็นคนค่อนข้างเงียบ ค่อนข้างล้าสมัย และอนุรักษ์นิยม ในขณะเดียวกันจะเป็นคนที่บ้าบิ่นมากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างแน่ชัด

โดยสรุป พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา บุคลิกภาพ รวมถึงความสามารถพิเศษของเรา สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ของ บุคลิกภาพ ที่ดี คือ ความสามารถที่จะเอาข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่มาช่วยในการตัดสินใจ และช่วยให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม



ไม่มีความคิดเห็น: