การปฏิบัติตนด้านสุขอนามัย
แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
ผู้ที่มีสุขภาพดีเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสุข
ปราศจากโรค สุขภาพเป็นสมบัติประจำตัวของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“อโรคยา ปรมา ลาภา” ซึ่งหมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าบุคคลที่ไม่มีโรคประจำตัวย่อมเป็นลาภอันยิ่งใหญ่
เพราะคนเรานั้นถึงแม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ถ้าเป็นโรคก็ไม่มีความสุข
ดังนั้น
จึงพอสรุปได้ว่าการที่คนเรามีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิตใจนั้น ย่อมทำให้เราเป็นบุคคลหรือประชาชนที่เป็นทรัพยากรมีค่ายิ่งของสังคม
ผู้ที่มีสุขภาพดีจะสามารถปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว
มีบุคลิกภาพที่ดี สุขภาพแข็งแรงเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป มีความสามารถในการดูแลตนเองและครอบครัว
ตลอดจนมีความสามารถที่จะให้ความร่วมมือกับบุคคลอื่น ๆ ในการสร้างสังคม ถ้าประชาชนของชาติมีสุขภาพที่ดี
ก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติด้วย
มารยาททางสังคม
แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
มารยาท
หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ ส่วนคำว่า
มารยาทในสังคมจะหมายถึงกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น
รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก
โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้
ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน
ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่ามารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น
เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง
อย่างไรก็ดีด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน
อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง
อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน
แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม
การแสดงมารยาทที่ดีเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ
บุคคลจึงควรเรียนรู้ถึงมารยาทไทยที่พึงปฏิบัติ อันเป็นมารยาทที่อ่อนช้อย งดงาม เป็นที่ประทับใจแก่บุคคลทั่วโลก
นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับการปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ เพื่อการแสดงออกที่ถูกต้อง
เหมาะสม และเป็นที่น่าชมเชยแก่ผู้พบเห็น
วัฒนธรรมระหว่างประเทศ
แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
การที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม
มีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข
สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้เราเรียกว่า “วัฒนธรรม” ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายตกแต่งคนให้น่าดูชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนเสมอไป
การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกลุ่มอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเมือง เศรษฐกิจ
ประชาชนในกลุ่มอาเซียนมีการติดต่อสื่อสารด้านต่าง ๆ มากขึ้น
จึงจำเป็นต้องศึกษาวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อไป
บุคลิกภาพและกิจนิสัยที่พึงประสงค์ในการปฏิบัติงาน
แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
ในสังคมซึ่งอยู่รวมกันด้วยบุคคลจำนวนมาก
แต่ละบุคคลก็มีอุปนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน
ซึ่งการที่มีลักษณะกิจนิสัยที่แตกต่างกันเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ พันธุกรรม
สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์และวัฒนธรรม ทุกคนมีทั้งลักษณะกิจนิสัยที่ดีงามและไม่ดี
การได้เรียนรู้ถึงลักษณะกิจนิสัยที่ดี ย่อมทำให้มีกิจนิสัยที่ดี
ทั้งในด้านการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม
กิจนิสัยที่ดีเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพภายนอกของบุคคลทำให้เกิดการแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง
ๆ ที่ดีงาม เช่น ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง
การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ที่มีกิจนิสัยที่ดีต้องมีความตั้งใจที่จะฝึกฝนประพฤติปฏิบัติ
จนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัว ทำให้การปรากฏกายของบุคคลผู้นั้น เป็นที่ประทับใจ
และชื่นชมยินดี แก่ผู้ที่ได้พบเห็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น